03 พฤศจิกายน 2550

ธรรมชาติของการฟังดนตรี

Icon Code Below

Skamu.com - The only place for Myspace icons, Orkut avatars, and profile codes

ดนตรี

เป็นศิลปะที่เสียเปรียบศิลปะแขนงอื่น ๆ ตรงที่ดนตรีเป็นเรื่องของการฟัง สื่อกันทางหู ความไพเราะของดนตรี ใช้โสตประสาทในการรับรู้ดนตรีแล้วส่งไปยังจิตสำนึก หรือ จิตใต้สำนึก การพูดหรือการเขียนถึงดนตรีนั้น อาศัยอวัยวะรู้อื่น ๆ เช่น ตา หรือการสัมผัสซึ่งเป็นเพียงส่วนประกอบย่อย ๆ เท่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงดนตรีได้

ถ้าปราศจากหู แต่อวัยวะส่วนอื่นจะได้รับผลประโยชน์ เป็นผลพลอยได้จากดนตรีด้วยด้วยเหตุที่หูของคนเราเปิดอยู่ตลอดเวลา หูไม่สามารถเลือกฟังเองได้ จิตต่างหากที่จะทำหน้าที่กลั่นกรองเสียงที่ได้ยินว่า พอใจ หรือไม่พอใจต่อเสียงใด

ความพอใจต่อเสียงของจิตที่ได้ยินจากหูเป็นความไพเราะทั้งที่เป็นดนตรีและไม่เป็นดนตรี แต่ความสดใสไพเราะที่เป็นดนตรีนั้นเป็นศิลปะที่อาศัยความสะอาดของจิตเป็นพื้นฐาน ขณะเดียวกัน เสียงที่ไม่ไพเราะจิตจะไม่พอใจ

เสียงเหล่านั้นเป็นเสียงสร้างความรำคาญ และความไม่พอใจของจิต ความรำคาญสืบเนื่องมาจากเสียงขาดศิลปะในการปรุงแต่งให้สวดสดงดงาม ขาดคุณสมบัติในการสร้างความเพลิดเพลิน

อย่างไรก็ตาม พอมีหลักการในการฟังดนตรีอยู่บ้าง ที่สามารถเรียนรู้ด้วยอวัยวะส่วนอื่นที่นอกไปจากหู แต่หลักการเหล่านี้เป็นเพียงแนวทางในการฟังเท่านั้น ความไพเราะจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการฟังจริง ๆ ทางหูโดยตรงเราจะเริ่มต้นฟังดนตรีกันอย่างไร

ถ้าเราจะจัดลำดับก่อนหลังในการรับรสความไพเราะโดยอาศัยดุริยางควิทยาแล้ว ก็พอจะจัดลำดับของการฟังได้ดังนี้ คือ ฟังเสียง ฟังจังหวะ ฟังทำนอง ฟังเนื้อร้อง ฟังการเรียบเรียงเสียงประสาน ฟังสีสันแห่งเสียง ฟังรูปแบบของคีตลักษณ์ ฟังอย่างวิเคราะห์ และฟังเพื่อประโยชน์ของชีวิต

โดยทั่วไป การฟังดนตรี เริ่มจากง่ายไปสู่การฟังที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งพอจะจัดเป็นลำดับดังนี้

1. ฟังเสียง (Sound) เสียงที่เกิดขึ้นทุกชนิดจัดอยู่ในกลุ่มนี้ หูจะเรียนรู้เสียงที่ได้ยินจะพอใจ ไม่พอใจ น่าฟัง หรือไม่น่าฟัง เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ เด็กแรกเกิดจะเรียนรู้เรื่องเสียงเด็กจะมีความสนใจต่อเสียงแปลกใหม่ เสียงสามารถสร้างความสนใจ และเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของเด็กได้ เสียงต่าง ๆ ไม่ถูกจัดระบบ เช่น เสียงรถยนต์ เสียงนกร้อง เสียงตีเกาะเคาะไม้ ลมพัด ฟ้าร้อง ฯลฯ หูเราจะทนฟังอยู่ได้ไม่นานก็เกิดความเบื่อหน่าย เพราะความไม่มีศิลปะ ดนตรีประกอบด้วยเสียงต่าง ๆ เหล่านี้แต่ถูกนำมาจัดระบบเป็นศิลปะ มีความไพเราะ

2. ฟังจังหวะ (Rhythm Time) จังหวะเป็นการเอาเสียงมาจัดระบบระเบียบให้สัมพันธ์ คล้องจองกัน ความแปลกหูทำให้น่าฟัง เช่น กลองยาว กรับ โหม่ง ฆ้อง มาเคาะ เป็นจังหวะ ความเร็ว ช้า ให้อารมณ์ความรู้สึกครึกครื้น อับเฉา ชุ่มฉ่ำ เป็นต้น จังหวะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกมาก โดยเฉพาะทางร่างกาย ความตื่นเต้นเร้าใจต่อจังหวะที่ได้ยิน “ฟังแล้วเนื้อเต้น” จังหวะมักถูกนำไปเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในพิธีกรรมต่าง ๆ ทุกกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับจิต ความรู้สึก ปลุกวิญญาณ ความเป็นชาตินิยม ฯลฯ จังหวะมักจะเร่งเร้าให้ร่างกายแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งต่อจังหวะที่ได้ยิน จังหวะเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของธรรมชาติ ทุกอย่างมีจังหวะควบคุม การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล กลางวัน กลางคืน ความเป็น ความตาย เป็นธรรมชาติที่ประกอบขึ้นด้วยจังหวะ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น สัดส่วนของอาหาร สถาปัตยกรรม ความสมดุลของสรรพสิ่ง ภาพวาด ท่าทางที่ร่ายรำ ลีลาของฉันทลักษณ์ แม้แต่ลีลาของชีวิต ล้วนเกี่ยวข้องกับจังหวะทั้งสิ้น

3. ฟังทำนอง (Melody) ทำนองเป็นรูปร่างหนาตาภายนอก เป็นโครงสร้างบอกถึงขอบเขตของความสูงต่ำของเสียง การฮัมเพลง การผิวปาก การร้องเพลงเป็นการนำแนวทางทำนองมาใช้ ทำนองจะให้อารมณ์ชัดเจนกว่าจังหวะ ให้ความรู้สึกลึกลงถึงจิตใจมากกว่าส่วนของจังหวะ ขณะเดียวกันทำนองก็มีจังหวะรวมอยู่ด้วย

4. ฟังเนื้อร้อง (Text) ผู้ฟังจำนวนมากมุ่งฟังดนตรีเพื่อให้รู้เรื่องราวของเพลง เนื้อร้อง สามารถสร้างความประทับใจให้ผู้ฟัง บางครั้งดูเหมือนว่าเนื้อร้องเป็นหัวใจของเพลงด้วยซ้ำไป

5. ฟังการเรียบเรียงเสียงประสาน (Harmony) การเรียบเรียงเสียงประสาน คือการนำเอาเสียงมาจัดระบบ เอาเสียงมาซ้อนกันตามกฎเกณฑ์ของแต่ละยุคแต่ละสมัยที่นิยมกัน เสียงประสานจะเป็นตัวช่วยอุ้มเสียงดนตรีให้มีพลังทางอารมณ์ ช่วยเกื้อหนุนความงามของบทเพลง

6. ฟังสีสันแห่งเสียง (Tone Color) สีสันแห่งเสียงแห่งดนตรีเป็นเสียงที่เกิดจากเครื่องดนตรีที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัสดุและรูปแบบของเครื่องดนตรี ทั้งที่เกิดเสียงโดย การดีด สี ตี เป่า หรือการกระทบแบบต่าง ๆ ทำให้เสียงดนตรีมีความแตกต่างกัน

7. ฟังรูปแบบของเพลง (Form) รูปแบบหรือโครงสร้างของเพลง เป็นการฟังดนตรีอย่างภาพรวม เรียนรู้โครงสร้างของบทเพลงว่าเป็นเพลงที่มี 1 ท่อน 2 ท่อน 3 ท่อน หรือ 4 ท่อน รูปแบบของบทเพลงแต่ละบทเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเพลงนั้น ๆ

8. การฟังอย่างวิเคราะห์ (Analysis) การฟังอย่างวิเคราะห์ เป็นการฟังเพื่อหารายละเอียดของผลงานชนิดนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร เป็นการฟังโดยมีจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ฟังเพื่อวิเคราะห์ว่าเป็นผลงานของใคร สมัยใด ใช้เครื่องดนตรีอะไรบรรเลง แต่งรูปแบบใด การประสานเป็นอย่างไร

9. ฟังเพื่อสุนทรียะ (Aesthetic) การฟังดนตรีเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งเป็นประโยชน์ของชีวิต เป็นการฟังที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ เพราะการฟังประเภทนี้ผู้ฟังจะเลือกเพลงให้เหมาะสมกับตนเอง ผู้ฟังอาจจะมีความพอใจอยู่ในระดับใดระดับหนึ่ง มีความสุขที่จะเลือกฟังในสิ่งที่ตนชอบ โดยอาศัยความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่มีอยู่ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองให้มากที่สุด

1 ความคิดเห็น:

yos_sound กล่าวว่า...

เป็นบทความทางดนตรีที่ดีมาก