ขอให้ท่านทำความเข้าใจในความมุ่งหมายของการบรรยายนี้ให้ถูกต้อง
เพราะมีความกำกวมบางอย่างที่อาจจะเข้าใจผิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่า “ศิลปะ” ในภาษาไทยคำนี้มันกำกวม ไม่ใช้รัดกุม เพราะไม่มีคำรัดกุม อาตมาจึงต้องจำกัดความของคำว่า “ศิลปะ” ให้เป็นที่แน่นอน อย่าให้กำกวมมากเกินไป ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในครั้งก่อน ๆ ว่า “ศิลปะ” นั้น ความหมายสำคัญอยู่ที่ ความงาม แล้วก็ ความเป็นสิ่งที่ต้องใช้ฝีมือ คือ ทำยาก แล้วก็ ให้สำเร็จประโยชน์จนถึงที่สุดในความมุ่งหมายแห่งเรื่องนั้น ๆ คำว่า “ศิลปะบริสุทธิ์” ต้องเป็นอย่างนี้
แต่เดี๋ยวนี้ในภาษาไทย คำว่า “ศิลปะ” เขาไปใช้ในความหมายหลอกหลวงก็ได้ คือ โกงเป็นเพียงศิลปะไม่ใช่ของจริง นี่เพราะภาษามันกำกวม ศิลปะโกง ศิลปะทำปลอม ศิลปะผิดนั้นเป็นศิลปะเทียม หรือจะต้องเรียกว่า “เทียมศิลปะ” ไม่ใช่ศิลปะ มันเป็นของทำขึ้นเพื่อเทียมศิลปะหลอกตาว่างาม ว่ายาก ว่าประณีต ว่ามีประโยชน์
เพราะฉะนั้นขอให้ท่านเอาความหมายให้ถูกต้อง ถ้าเป็นภาษาอังกฤษมันง่าย เพราะมันจำกัดไว้ชัด คำว่า Art แปลว่า ศิลปะ ที่มีความหมายดี คือ มีความงาม มีความยาก และมีประโยชน์ ถ้าเป็น “ศิลปะเทียม” เขามีคำว่า Artificial ถ้า Arttificial นั่นคือเทียมศิลปะทำเทียมศิลปะ ไม่ใช่ศิลปะ นี้ถ้ามันเป็น ศิลปะสูงสุด ถึงขนาดสูงสุด เขาก็มีคำว่า Artistic ขนาดแห่งความมีศิลปะ คือมันสูงสุดเมื่อเขามีคำใช้จำกัดตายตัวกันอยู่อย่างนั้น มันไม่ปนกัน ภาษาไทยเรา อะไรก็ศิลปะอะไรก็ศิลปะ แล้วเปิดไว้กว้าง คือจริงก็ได้ ปลอมก็ได้ แล้วโดยมากเดี๋ยวนี้คนมักจะมองไปในทางที่ว่ามันเป็นของปลอม คือเทียมศิลปะขอให้เข้าใจเสียใหม่ว่า คำว่า ”ศิลปะ” นี้ไม่ใช่เรื่องหลอกหลวง เรื่องตบตา เรื่องคดโกงเรื่องปลอมเทียม มัน ให้สำเร็จประโยชน์ แต่มันยิ่งไปกว่าธรรมดาคือต้อง งาม ด้วยถ้าตามธรรมดาไม่องการความงามก็ได้ และถ้าเป็นศิลปะจริงมันต้องประณีตละเอียดและ ทำยากยิ่งด้วย เราก็เลยมีปัญหา เช่นว่า จะทำไม้ตัดปิ้งปลา เดี๋ยวก็จะเอากระดาษทรายมาขัด เพื่อให้มันงาม ให้มันเป็นศิลปะ อย่างนี้มันก็บ้า เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำถึงขนาดนั้นถ้าศิลปะที่ทำไม้ตับปิ้งปลาได้ มันก็เป็นศิลปะพออยู่ในตัวแล้วไม่ต้องเอากระดาษทรายมาขัด หรือไม่ต้องเอาน้ำมันทา
ฉะนั้นขอให้ จำกัดขอบเขตแห่งความหมายของคำว่า ศิลปะ ไว้ให้พอดี ๆ หรือว่าเราจะมองกัน ในแง่ธรรมดา ๆ ก็ให้เห็นว่า มันมีความงามชนิดที่ทำความพอใจ ไม่ต้องเป็นไปในทางรูปร่างสีสันอะไรนัก แต่มันทำความพอใจทำความสำเร็จประโยชน์แล้วก็ทำด้วยฝีมือ
18 ตุลาคม 2550
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น